เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [3. นิกเขปกัณฑ์] ทุกนิกเขปะ ปิฏฐิทุกะ
13. ปิฏฐิทุกะ
1. ทัสสเนนปหาตัพพทุกะ
[1261] สภาวธรรมที่ต้องประหาณด้วยโสดาปัตติมรรค เป็นไฉน
สังโยชน์ 3 คือ
1. สักกายทิฏฐิ
2. วิจิกิจฉา
3. สีลัพพตปรามาส
[1262] บรรดาสังโยชน์ 3 นั้น สักกายทิฏฐิ เป็นไฉน
ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้รับการฝึกฝนในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของ
สัตบุรุษ ไม่ได้รับการฝึกฝนในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเห็นรูปเป็นตนหรือเห็นตน
มีรูป เห็นรูปในตนหรือเห็นตนในรูป เห็นเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ
วิญญาณเป็นตน หรือเห็นตนมีวิญญาณ เห็นวิญญาณในตน หรือเห็นตนในวิญญาณ
ทิฏฐิ ความเห็นผิด ฯลฯ ความยึดถือโดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า
สักกายทิฏฐิ
[1263] วิจิกิจฉา เป็นไฉน
ปุถุชนย่อมเคลือบแคลงสงสัยในพระศาสดา ฯลฯ ความกระด้างแห่งจิต
ความลังเลใจ มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่าวิจิกิจฉา
[1264] สีลัพพตปรามาส เป็นไฉน
สมณพราหมณ์ภายนอกแต่ศาสนานี้มีความเห็นว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้
ด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยศีลและพรต ดังนี้ ทิฏฐิ ความเห็นผิด ฯลฯ ความยึดถือโดย
วิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่าสีลัพพตปรามาส
สังโยชน์ 3 ดังกล่าวมานี้และกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับสังโยชน์ 3 นั้น
ได้แก่ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ ที่สัมปยุตด้วยสังโยชน์ 3 นั้น กายกรรม
วจีกรรม และมโนกรรม ที่มีสังโยชน์ 3 นั้นเป็นสมุฏฐาน สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า
ต้องประหาณด้วยโสดาปัตติมรรค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 34 หน้า :320 }